Archive for มีนาคม, 2011|Monthly archive page

มาตรความต่างศักย์

มาตรความต่างศักย์
มาตรความต่างศักย์ซึ่งนิยมเรียกกันโดยทั่วไปว่า “โวลต์มิเตอร์” เป็นอุปกรณ์ไฟฟ้าชนิดหนึ่งที่มีสมบัติแตกต่างจากมาตรกระแสไฟฟ้าตามที่กล่าวมาแล้วดังนี้
1. มาตรความต่างศักย์ตัวหนึ่งเป็นอุปกรณ์ไฟฟ้าชนิดหนึ่ง
ทั้งนี้มีประโยชน์เพื่อหาความต่างศักย์ไฟฟ้าของอุปกรณ์ไฟฟ้าชิ้นหนึ่ง ๆ
2. เราต่อมาตรความต่างศักย์ตัวหนึ่งแบบขนานแบบหนึ่งตามที่เราเรียกว่า ชันต์ (Shunt) กับอุปกรณ์ไฟฟ้าชิ้นหนึ่ง ๆ ที่ต้องการหาความต่างศักย์ไฟฟ้า
3. ถ้าเราต่อมาตรความต่างศักย์ตัวหนึ่งในลักษณะดังกล่าวนี้กระแสไฟฟ้าจะแยกไหลเข้าสู่มาตรความต่างศักย์ตัวนี้
ทั้งนี้จึงมีผลต่อกระแสไฟฟ้าในวงจรไฟฟ้าวงจรนี้
4. เพื่อลดผลกระทบตามข้อ 3. นั้นให้น้อยสุดเท่าที่เป็นได้
ดังนั้น มาตรความต่างศักย์ตัวหนึ่งต้องมีความต้านทานไฟฟ้าสูง ๆ
ข้อสังเกตเชิงเปรียบเทียบกับมาตรกระแสไฟฟ้าตัวหนึ่งมีดังนี้
1. มาตรความต่างศักย์ตัวหนึ่งและมาตรกระแสไฟฟ้าอีกตัวหนึ่งมีพื้นฐานทางไฟฟ้าจากแกลแวนอมิเตอร์ตัวหนึ่ง ๆ ที่ยอมให้กระแสไฟฟ้าไหลผ่านได้
2. มาตรความต่างศักย์ตัวหนึ่งต่อขนานกับอุปกรณ์ไฟฟ้าชิ้นหนึ่ง
ตรงกันข้าม มาตรกระแสไฟฟ้าตัวหนึ่งจะต่ออนุกรมแบบหนึ่งกับอุปกรณ์ไฟฟ้าชิ้นหนึ่ง
3. มาตรความต่างศักย์ตัวหนึ่งมีความต้านทานไฟฟ้าสูง ๆ
ตรงกันข้าม มาตรกระแสไฟฟ้าตัวหนึ่งมีความต้านทานไฟฟ้าต่ำ ๆ
4. มาตรความต่างศักย์ตัวหนึ่งวัดความต่างศักย์ไฟฟ้าเป็นโวลต์
อนึ่ง มาตรกระแสไฟฟ้าตัวหนึ่งวัดกระแสไฟฟ้าเป็นแอมแปร์
ข้อสังเกตสำหรับมาตรความต่างศักย์ตัวนี้มีดังนี้
1. ตำแหน่งต่อขั้วลบมี 1 ตำแหน่ง
2. ตำแหน่งต่อขั้วบวกมี 2 ตำแหน่ง
ทั้งนี้ตำแหน่งหนึ่งสำหรับความต่างศักย์ไฟฟ้าสูงสุด 1 โวลต์
ส่วนอีกตำแหน่งหนึ่งสำหรับความต่างศักย์ไฟฟ้าสูงสุด 2 โวลต์
ด้วยเหตุนี้ เราจึงเลือกต่อตามความเหมาะสมกับความต่างศักย์ไฟฟ้า
3. ขณะปกติเข็มชี้ทางซ้ายสุด
วงจรไฟฟ้าปิดวงจรหนึ่งดังรูปที่แสดงตอนท้ายของเรื่องนี้มีข้อมูลดังนี้
1. มาตรกระแสไฟฟ้าตัวนี้ทนกระแสไฟฟ้าสูงสุด 1 มิลลิแอมแปร์
2. มาตรความต่างศักย์ตัวนี้มีตัวเลขบนหน้าปัดสูงสุด 2 โวลต์
จงพิจารณาดังนี้
1. วงจรไฟฟ้าวงจรนี้
2. กระแสไฟฟ้าโดยประมาณในวงจรไฟฟ้าวงจรนี้
3. ความต่างศักย์ไฟฟ้าโดยประมาณของมาตรความต่างศักย์ตัวนี้

สมพงษ์ ใจดี
sompongsej@yahoo.com
https://genphysics.wordpress.com/
http://www.vcharkarn.com/sompongse
31 มีนาคม 2554

มาตรกระแสไฟฟ้า

มาตรกระแสไฟฟ้า

มาตรกระแสไฟฟ้าหรือแอมมิเตอร์ตัวหนึ่งเป็นอุปกรณ์ไฟฟ้าชนิดหนึ่งซึ่งเราใช้วัดกระแสในวงจรไฟฟ้าวงจรหนึ่ง
โดยทั่วไปเรายังคงนิยมกล่าวถึงในนามว่า “แอมมิเตอร์ตัวหนึ่ง” มากกว่า
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อกล่าวถึงอุปกรณ์ไฟฟ้าชิ้นนี้เชิงปฏิบัติ
ทั้งนี้คงเนื่องมาจากความคุ้นเคยและรู้จักกันโดยทั่วไปนั่นเอง
อย่างไรก็ตาม ณ ที่นี้เราจะกล่าวถึงทั้ง 2 คำนี้ด้วยเหตุผลดังนี้
1. ไม่ต้องการทำให้ผู้อ่านสับสนจนเกินไป
2. ขณะเดียวกันผู้เขียนต้องการให้ผู้อ่านเริ่มคุ้นเคยกับคำที่บัญญัติใหม่นี้
อนึ่ง ขอย้ำว่า เราสามารถใช้คำทั้ง 2 คำนี้ได้
นอกจากนี้ กระแสไฟฟ้าในวงจรไฟฟ้าหนึ่ง ๆ มีค่าน้อย ๆ เป็นมิลลิแอมแปร์หรือไมโครแอมแปร์
ดังนั้น เราจึงใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าชิ้นหนึ่งที่ตอบสนองอย่างเหมาะสมดังนี้
1. มิลลิแอมมิเตอร์ตัวหนึ่งที่ระบุหน่วยของกระแสไฟฟ้าสอดคล้องกัน กล่าวคือ มิลลิแอมแปร์ (mA)
2. ไมโครแอมมิเตอร์ตัวหนึ่งที่ระบุหน่วยของกระแสไฟฟ้าสอดคล้องกัน
กล่าวคือ ไมโครแอมแปร์ (μA)
ทั้งนี้ 1 แอมแปร์เท่ากับ 1,000 มิลลิแอมแปร์
และ 1 แอมแปร์เท่ากับ 1 ล้านไมโครแอมแปร์
การต่อมาตรกระแสไฟฟ้าตัวหนึ่งเป็นดังนี้
1. เราต่อมาตรกระแสไฟฟ้าตัวหนึ่งอนุกรมแบบหนึ่งกับอุปกรณ์ไฟฟ้าชิ้นหนึ่งหรือกับส่วนหนึ่งของวงจรไฟฟ้าวงจรหนึ่งที่ต้องการรู้กระแสไฟฟ้า
2. เนื่องจากว่า มาตรกระแสไฟฟ้าตัวหนึ่งมีปุ่มต่อขั้วบวกปุ่มหนึ่งและปุ่มต่อขั้วลบอีกปุ่มหนึ่ง
เราจึงต้องต่อกับขั้ว 2 ขั้วของแบตเตอรี่ก้อนหนึ่งที่สมนัยกัน
ทั้งนี้กระแสไฟฟ้าที่ไหลในวงจรไฟฟ้าวงจรหนึ่งย่อมไหลในทิศทางของการเพิ่มค่าของกระแสไฟฟ้าบนหน้าปัดของมาตรกระแสไฟฟ้าตัวนี้อย่างถูกต้อง
เราสังเกตได้จากการเบนของเข็มชี้บนหน้าปัดเข็มหนึ่งดังกล่าว
อนึ่ง ถ้าต่อกลับขั้วกับที่กล่าวมานี้เข็มชี้บนหน้าปัดเข็มนี้จะเบนกลับกัน
กรณีดังกล่าวมีผลเสียต่อมาตรกระแสไฟฟ้าตัวนี้
ดังนั้น เราจึงควรระวังเป็นพิเศษ
3. ด้วยเหตุนี้ ถ้าเราสามารถเลือกได้เราควรเลือกใช้มาตรกระแสไฟฟ้าตัวหนึ่งที่มีความต้านทานไฟฟ้าน้อย ๆ เทียบกับของอุปกรณ์ไฟฟ้าต่าง ๆ และความต้านทานไฟฟ้าภาระในวงจรไฟฟ้าวงจรนี้
ทั้งนี้เนื่องจากว่า เราจะไม่สามารถหลีกเลี่ยงผลกระทบของความต้านทานไฟฟ้าของมาตรกระแสไฟฟ้าตัวหนึ่งที่มีต่อกระแสไฟฟ้าที่เราต้องการวัดนั้น ๆ นั่นเอง

สมพงษ์ ใจดี
sompongsej@yahoo.com
https://genphysics.wordpress.com/
http://www.vcharkarn.com/sompongse
29 มีนาคม 2554

แกลแวนอมิเตอร์

แกลแวนอมิเตอร์

แกลแวนอมิเตอร์ (Galvanometer) มีความหมายโดยทั่วไปดังนี้
กล่าวคือ อุปกรณ์ไฟฟ้าชนิดหนึ่งที่ยอมให้กระแสไฟฟ้าไหลผ่านได้
แกลแวนอมิเตอร์เป็นอุปกรณ์ไฟฟ้าพื้นฐานซึ่งอยู่ในลักษณะของเครื่องวัดทางไฟฟ้า เช่น มาตรกระแสไฟฟ้าตัวหนึ่งและมาตรความต่างศักย์ตัวหนึ่ง
อนึ่ง มาตรกระแสไฟฟ้าตัวหนึ่งและมาตรความต่างศักย์ตัวหนึ่งมีกรรมวิธีและมีสมบัติเฉพาะของตัวเอง
แกลแวนอมิเตอร์ตัวหนึ่งตามที่เราแสดงนี้เป็นแกลแวนอมิเตอร์พื้นฐานตัวหนึ่งที่ใช้ได้ง่าย สะดวก และไม่เกิดผลเสียได้โดยง่าย
ทั้งนี้แกลแวนอมิเตอร์ตัวนี้เป็นชนิดที่มีเข็มชี้เข็มหนึ่ง ณ ตำแหน่งเลขศูนย์ตรงกึ่งกลางขณะที่ไม่มีกระแสไฟฟ้าไหลผ่าน
นอกจากนี้ ตำแหน่งต่าง ๆ ทั้งทางด้านซ้ายและด้านขวาของตำแหน่งศูนย์ตรงกึ่งกลางนี้ล้วนมีค่าเพิ่มขึ้น ๆ ตามระยะห่างจากตำแหน่งกึ่งกลางตำแหน่งนั้นในลักษณะที่สมมาตร
ข้อดีจากลักษณะดังกล่าวเป็นดังนี้
1. เราจะใช้ได้สะดวกเมื่อต้องการให้เข็มชี้เข็มนี้แกว่งกวัดไปและมา ๆ รอบ ๆ ตำแหน่งกึ่งกลางตำแหน่งนั้น
2. การแกว่งกวัดไปและมา ๆ ของเข็มชี้เข็มนี้สื่อถึงปริมาณของกระแสไฟฟ้า
3. สำหรับผู้หนึ่งผู้ใดซึ่งไม่สันทัดก็สามารถใช้ได้สะดวก
โดยที่ไม่ต้องกังวลในการต่ออุปกรณ์ไฟฟ้าชนิดนี้ในวงจรไฟฟ้าวงจรหนึ่ง
ทั้งนี้เมื่อต่อขั้วไฟฟ้าขั้วหนึ่งไม่ถูกต้องตามที่ควรเป็นเข็มชี้เข็มนี้จะเบนไปทางด้านซ้ายของตำแหน่งกึ่งกลาง
เราก็สามารถเปลี่ยนได้โดยง่าย
ถ้าเราต่อถูกต้องเข็มชี้เข็มนี้จะเบนไปทางด้านขวาของตำแหน่งกึ่งกลาง
อย่างไรก็ตาม แกลแวนอมิเตอร์ตัวหนึ่งมักไม่ระบุหน่วยของตัวเลขดังที่ปรากฏบนหน้าปัดนั้น
ข้อควรสังเกต
1. มิลลิแอมมิเตอร์หรือมาตรกระแสไฟฟ้าเป็นมิลลิแอมแปร์ตัวหนึ่งเป็นตัวอย่างของแกลแวนอมิเตอร์ตัวหนึ่ง
2. สมมติ เลข 0 มิลลิแอมแปร์อยู่ซ้ายสุดของหน้าปัด
3. การต่อมิลลิแอมมิเตอร์ตัวนี้ในวงจรไฟฟ้าวงจรหนึ่งเราต้องคำนึงถึงตำแหน่งขั้วบวกตำแหน่งหนึ่งและตำแหน่งขั้วลบอีกตำแหน่งหนึ่งเสมอ

สมพงษ์ ใจดี
sompongsej@yahoo.com
https://genphysics.wordpress.com/
http://www.vcharkarn.com/sompongse
27 มีนาคม 2554

โกหกเพื่ออะไร

 

โกหกเพื่ออะไร
การโกหกครั้งใดก็ตามมักมีเหตุผลในตัวเอง
ทั้งนี้การโกหกเพื่อการหลอกลวง
การโกหกเพื่อตัวเองจะได้หลุดพ้นจากความผิดหรือข้อกล่าวหา
การโกหกด้วยเจตนาที่บริสุทธิ์เพื่อให้ผู้อื่นได้สบายใจ
และเหตุผลอื่น ๆ นานับประการ
อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนอยากให้ผู้อ่านได้ตัดสินดังนี้
“เรื่องที่ผู้เขียนกล่าวถึงนี้เป็นการโกหกเพื่อจุดประสงค์ใดกันแน่”
อนึ่ง เรื่องที่ผู้เขียนจะเล่าให้รับรู้กันไว้ ณ ที่นี้เป็นเรื่องที่อิงความจริงเรื่องหนึ่ง
โดยที่ผู้เขียนเองก็มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ด้วย
ในสมัยก่อน ๆ โน้นนามมาแล้วระบบการเรียนการสอนระดับอุดมศึกษาของประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีการวัดผลการศึกษาจากการให้คะแนนในการสอบของแต่ละวิชาโดยมีคะแนนเต็ม 100 คะแนน
อนึ่ง ถ้านิสิตและนักศึกษาในปัจจุบันนี้ได้รับรู้จะต้องร้องว่า “โหดอย่างยิ่ง”
ทั้งนี้แต่ละวิชาต้องได้คะแนนตั้งแต่ 60 คะแนนขึ้นไปจึงจะผ่านวิชานั้น
นอกจากนี้ ในแต่ละปีของการศึกษา (ปกติมี 5 วิชา) ถ้าคนใดคนหนึ่งสอบตกเกิน 2 วิชาก็ต้องออกจากมหาวิทยาลัยทันทีโดยไม่มีการเรียกร้องสิทธิ์อื่นใดทั้งสิ้น
ถ้าสอบตก 2 วิชาก็ต้องเรียนซ้ำชั้น
อีกทั้งถ้าสอบตก 1 วิชามีสิทธิ์ที่จะสอบแก้ตัวใหม่อีก 1 ครั้ง
อย่างไรก็ตาม ในการสอบแก้ตัวนั้นไม่ว่าจะได้คะแนนสูงกว่า 60 คะแนนมากสักเพียงใดก็จะต้องได้เพียง 60 คะแนนเท่านั้น
โดยตอนนี้ก็ถือว่าสอบผ่านครบทุกวิชาของระดับชั้นปีนั้นและมีสิทธิ์ศึกษาต่อในระดับชั้นสูงถัดขึ้นไปได้
อนึ่ง ถ้าในการสอบแก้ตัวนี้ได้คะแนนต่ำกว่า 60 คะแนนจะเป็นการสอบตกทันที
โดยต้องอยู่ในสถานะของผู้ที่สอบตกซ้ำชั้น
ทั้งนี้ต่างจากสมัยปัจจุบันนี้อย่างมาก
โดยนิสิตและนักศึกษาจำนวนหนึ่งมักถามดังนี้
“อาจารย์จะตัดเกรด F ที่กี่คะแนน”
นิสิตและนักศึกษาจำนวนหนึ่งในปัจจุบันนี้เป็นคนที่มักน้อยจริง ๆ
ผู้อ่านทุกคนอาจจะตกใจเมื่อรับรู้ดังนี้
“เราตัดเกรด F ที่คะแนนต่ำแถว ๆ 45 คะแนนหรืออาจจะน้อยกว่านี้ด้วย”
แล้วนิสิตและนักศึกษาจำนวนนี้จะมีคุณภาพเชิงวิชาการอย่างเหมาะสมหรือ
อนึ่ง เนื่องจากระบบแอดมิชชันระบบที่ใช้อยู่ในปัจจุบันได้ลดความสำคัญของวิชาหลัก คือ ฟิสิกส์ เคมี และชีววิทยาให้มีคะแนนเต็มรวมกันเพียง 100 คะแนน
โดยแต่ละวิชาเหล่านี้จึงมีความสำคัญเพียง 1 ใน 3 ของวิชาอื่น ๆ เช่น สังคมและภาษาไทยตามความคิดของนักเรียนที่จะศึกษาต่อระดับอุดมศึกษา
ดังนั้น ผลที่ปรากฏเป็นที่ประจักษ์ในปัจจุบันนี้ คือ นิสิตวิศวกรรมศาสตร์และวิทยาศาสตร์ปีที่ 1 ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยสอบตกหรือเพิกถอนวิชาฟิสิกส์ปีที่ 1 ที่มากถึงร้อยละ 20 โดยประมาณ
ทั้งนี้จำนวนหนึ่งก็ยอมเรียนภาคฤดูร้อนถ้าอยู่ในวิสัยที่เรียนได้
ส่วนอีกจำนวนหนึ่งก็ต้องออกจากมหาวิทยาลัยโดยปริยาย
ทั้งนี้เนื่องมาจากสอบตกวิชาอื่น ๆ อีกจนสุดที่จะแก้ไขได้
คำถามเชิงข้อคิด ณ ตอนนี้เป็นดังนี้
เราจะโทษใครกันดี
เราจะโทษระบบการเรียนและการสอนกันหรือ
หรือว่าเราจะโทษระบบของสื่อการเรียนการสอนที่ไม่ดี
หรือเราจะโทษที่ระบบแอดมิชชันระบบดังกล่าว
อ้อ แล้วใครล่ะที่ปิดหรือบิดเบือนข้อมูลที่เข้าทำนองดังนี้
“โกหกเพื่ออะไร” ดังหัวเรื่องนี้

พ.ศ. 2499
นิสิตคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ คนหนึ่งมีความภูมิใจเป็นที่สุดที่สามารถสอบคัดเลือกเข้ามาได้หลังจากที่สอบผ่านเกณฑ์ของกระทรวงศึกษาธิการมาก่อนหน้านั้น
อนึ่ง สมัยนั้นผู้ที่จะเข้าศึกษา ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมืองไม่ต้องสอบคัดเลือก โดยประหนึ่งกับมหาวิทยาลัยรามคำแหงในปัจจุบัน
ดังนั้น นี่ก็เป็นสิ่งหนึ่งที่ทำให้นิสิตจุฬาฯ ทุกคนในสมัยนั้นต่างดีใจและภูมิใจ
นิสิตวิทยาศาสตร์ที่ผู้เขียนกล่าวถึงคนนี้เป็นนักเรียนเก่าของโรงเรียนที่มีชื่อเสียงโรงหนึ่งในกรุงเทพฯ เป็นผู้ที่เรียนอยู่ในระดับดี และเป็นผู้ที่เป็นเลิศทางการกีฬาฯ แต่รูปร่างก็ไม่ได้สูงใหญ่นัก
นามสมมุติของนิสิตวิทยาศาสตร์คนนี้ คือ เอก
เอกเป็นนักกีฬาฯ ของคณะวิทยาศาสตร์ทุก ๆ ปี
และเป็นนักกีฬาฯ ของมหาวิทยาลัยด้วย
ถ้าปีใดเอกไม่ได้รับคัดเลือกเป็นนักกีฬาฯ ของมหาวิทยาลัยในเบื้องต้นเอกจะเสียใจถึงขั้นหลั่งน้ำตาและขอเสนอเป็นตัวสำรองร่วมฝึกซ้อมด้วย
เอกฝึกซ้อมอย่างหนักด้วยใจรัก
ดังนั้น เอกจึงได้เป็นนักกีฬาฯ ตัวจริงของมหาวิทยาลัยสมดังปรารถนาในที่สุด
มิถุนายน 2504
ผู้เขียนเข้าห้องเลกเชอร์ห้องหนึ่งที่ตึกฟิสิกส์ 1 (ในสมัยปัจจุบันนี้) เพื่อสอนวิชาดาราศาสตร์ซึ่งเป็นวิชาบังคับเลือกวิชาหนึ่งที่เปิดใหม่ของคณะวิทยาศาสตร์ในสมัยนั้น
โดยที่ห้องนี้สามารถมีที่นั่งมากกว่า 250 ที่
ผู้อ่านคนใดคนหนึ่งอาจจะงงที่ผู้เขียนกล่าวว่า “วิชาบังคับเลือกวิชาหนึ่ง”
ทั้งนี้วิชานี้จัดเป็นวิชาเลือกวิชาหนึ่ง
แต่นิสิตวิทยาศาสตร์จำนวนหนึ่งต้องศึกษาเพื่อให้ครบตามหลักสูตร
ผู้เขียนกวาดสายตามองไปรอบ ๆ ก็ประมาณได้ดังนี้
มีนิสิตในห้องนั้นไม่น้อยกว่า 200 คน
อีกทั้งจำนวนหนึ่งของนิสิตในห้องนั้นมีเพื่อน ๆ ของผู้เขียนที่สอบตกซ้ำชั้นด้วย
ทั้งนี้คนหนึ่งในจำนวนนั้น คือ เอกที่ผู้เขียนกล่าวถึงนั่นเอง
เอกนั่งอยู่เกือบแถว ๆ หน้าของห้องเลกเชอร์ห้องนี้
ทันทีที่ผู้เขียนสอนเสร็จและเดินออกจากห้องเลกเชอร์ห้องนั้นก็มีเสียงเรียกและมีนิสิตคนหนึ่งวิ่งตามมาพร้อมกับร้องเรียกดังนี้
เฮ้ย พงษ์หยุดก่อน
ผู้เขียนหยุดและหันไปมองดูตามเสียงนั้น
อ้อ เอกนั่นเอง
ผู้เขียน มีอะไรหรือเพื่อน
เอก เฮ้ย พงษ์ลื้อต้องช่วยอั๊วหน่อยนะเพื่อน
ผู้เขียน ลื้อต้องการให้อั๊วช่วยอะไรลื้อ
ลื้อบอกมาเลย
เอก อั๊วโกหกพ่อของอั๊วว่า “อั๊วจบแล้ว”
ผู้เขียน แล้วลื้อจะให้อั๊วช่วยอะไรหรือ
เอก อั๊วต้องสอบผ่านวิชาดาราศาสตร์ที่ลื้อสอนนี้
ผู้เขียน ลื้อก็ต้องทำตัวอย่างเหมาะสม
ทั้งนี้ในห้องเลกเชอร์อั๊วเป็นอาจารย์ ส่วนลื้อเป็นลูกศิษย์
เมื่ออยู่นอกห้องเราเป็นเพื่อนกัน
อ้อ สิ่งสำคัญ คือ ลื้อต้องเข้าห้องเลกเชอร์ทุกครั้งที่มีการเรียนการสอน
นอกจากนี้ อั๊วสั่งให้ทำอะไรลื้อก็ต้องทำตามอย่างมีเหตุผล
เอก อั๊วจะทำตัวดีและตั้งใจเรียนโดยไม่ทำให้ลื้อไม่สบายใจอย่างแน่นอน
อ้อ ลื้ออย่าบอกกับพ่อของอั๊วนะว่าอั๊วยังไม่จบน่ะ
ผู้เขียน ถ้าลื้อทำได้ตามที่พูดลื้อก็จะจบอย่างแน่นอน
ทั้งนี้ลื้อช่วยบอกเพื่อน ๆ ที่เรียนกับอั๋วด้วยล่ะ
เอก รับคำ
ตลอดทั้งภาคการศึกษาเอกเข้าห้องเลกเชอร์ทมุกคาบของการเรียนการสอนตามที่สัญญากับผู้เขียนนั้น
ผลการสอบก็ลงเอยด้วยดีโดยที่ผู้เขียนไม่ต้องช่วยเอกและเพื่อน ๆ คนอื่น ๆ แต่ประการใด
อนึ่ง ต่อมาผู้เขียนรู้ข่าวที่ดีใจดังนี้
เพื่อนหลาย ๆ คนที่เรียนวิชาดาราศาสตร์กับผู้เขียน ณ ตอนนั้นในฐานะที่เป็นนิสิตสอบตกซ้ำชั้นมาก่อน ต่อมาจบปริญญาเอกจากต่างประเทศหลายคนโดยที่รวมทั้งเอกด้วย
ทั้งนี้ผู้เขียนกล่าวย้ำเสมอดังนี้
“ลูกศิษย์ต้องเก่งและก้าวหน้ากว่าอาจารย์ประเทศไทยจึงจะเจริญยิ่ง ๆ ขึ้น”
อนึ่ง ผู้เขียนในฐานะอาจารย์คนหนึ่งก็ชื่นชมและยินดีในความสำเร็จของลูกศิษย์ทุก ๆ คนอย่างจริงใจ
“โกหกเพื่ออะไรเรื่องนี้ก็จบลงด้วยประการฉะนี้”
ทั้งนี้ผู้อ่านทุกคนตอบได้หรือไม่ว่า “โกหกเพื่ออะไร”

สมพงษ์ ใจดี
sompongsej@yahoo.com
https://genphysics.wordpress.com/
http://www.vcharkarn.com/sompongse
18 มีนาคม 2554

ดาวเคราะห์น้อยดวงใดดวงหนึ่งจะพุ่งชนโลก

ดาวเคราะห์น้อยดวงใดดวงหนึ่งจะพุ่งชนโลก
ไม่ใช่เป็นการบังเอิญกระมัง
โลกเป็นดาวเคราะห์ดวงหนึ่งในระบบสุริยะระบบนี้
ทั้งนี้เท่าที่ความรู้และความสามารถของมนุษย์โลกในปัจจุบันและอนาคตอันใกล้โลกยังเป็นเทห์ฟ้าดวงเดียวในระบบสุริยะระบบนี้และอาจจะเป็นหนึ่งเดียวในเอกภพที่สิ่งมีชีวิตดังเช่นมนุษย์ดำรงอยู่
โลกเป็นดาวเคระห์ดวงที่ 3 จากดวงอาทิตย์
โดยที่โลกอยู่ห่างจากดวงอาทิตย์ 1 หน่วยดาราศาสตร์หรือประมาณ 150 ล้านกิโลเมตร
ทั้งนี้โลกอยู่ต่อจากดาวพุธดวงหนึ่งและดาวศุกร์อีกดวงหนึ่ง
โลกมีดาวบริวารดวงหนึ่ง คือ ดวงจันทร์
ทำไมโลกจึงมีดาวบริวารเพียงดวงเดียวที่โคจรรอบโลกรอบหนึ่งโดยหันเพียงด้านเดียวเข้าหาโลก
ทั้งนี้ราวกับว่าธรรมชาติบังคับให้ดวงจันทร์ดวงนี้เก็บความลึกลับแก่โลก
โดยที่ดวงจันทร์หมุนรอบตัวเองครบ 1 รอบพร้อม ๆ กับโคจรรอบโลกครบ 1 รอบ
อนึ่ง ผิวของดวงจันทร์เต็มไปด้วยหลุมอุกกาบาตมากมาย
หาได้ราบเรียบและงามผุดผ่องเหมือนกับที่เรามองดูด้วยตาเปล่าแต่ประการใดไม่
ทั้งนี้ดวงจันทร์ต้องมีก้อนอุกกาบาตที่มีขนาดต่าง ๆ โจมตีมาอย่างมากเช่นกัน
ดังนั้น ดวงจันทร์จึงเป็นด่านแรกที่เปรียบเป็นยามเฝ้าบ้าน คือ โลกของเรานั่นเอง
ดาวเคราะห์ 2 ดวงซึ่งอยู่ถัดจากโลกที่เราจะกล่าวถึง ณ ที่นี้ คือ ดาวอังคารดวงหนึ่งและดาวพฤหัสบดีอีกดวงหนึ่ง
ทั้งนี้ดาวอังคารมีขนาดที่เล็กกว่าขนาดของโลก
โดยที่ดาวอังคารดวงนี้จัดอยู่ในกลุ่มน้องเล็ก ๆ ของดาวเคราะห์ในระบบสุริยะระบบนี้
ส่วนดาวพฤหัสบดีนั้นเล่าก็มีขนาดที่ใหญ่กว่าขนาดของโลกหลายเท่านัก
โดยที่จัดอยู่ในกลุ่มดาวพี่ใหญ่ของดาวเคราะห์ในระบบสุริยะระบบนี้ด้วย
อนึ่ง ระหว่างวงโคจรของดาวอังคารวงหนึ่งและวงโคจรของดาวพฤหัสบดีอีกวงหนึ่งมีเทห์ฟ้าจำนวนมากที่รู้จักกันในนามแอสเตอรอยด์ (Asteroid) หรือดาวเคราะห์น้อย (Minor planet) ดวงหนึ่ง ๆ
อนึ่ง เรายังหวั่น ๆ กันดังนี้
ดาวเคราะห์น้อยบางดวงที่มีขนาดโตอาจจะมีโอกาสมุ่งมาชนกับโลก
ดาวเคราะห์น้อยดวงใดดวงหนึ่งจะมีโอกาสพุ่งชนโลกของเราจริงหรือ
ถ้าเป็นเช่นนั้นจริงโดยที่เราไม่ได้หาทางป้องกัน เช่น เบี่ยงเบนวิถีการเคลื่อนที่วิถีหนึ่งของดาวเคราะห์น้อยดวงใดดวงหนึ่งดังกล่าวนั้นโอกาสที่จะก่อความวิบัติที่รุนแรงต่อโลกก็เป็นได้เช่นกัน
อย่างไรก็ตาม ข้อคิดเห็นประการสำคัญประการหนึ่งที่เราควรกล่าวถึงในเบื้องต้นเป็นดังนี้
“ดาวเคระห์น้อยจำนวนมากที่โคจรอยู่ระหว่างวงโคจรของดาวอังคารวงหนึ่งและของดาวพฤหัสบดีอีกวงหนึ่งนั่นแหละ”
ขอย้ำอีกครั้งหนึ่งดังนี้
ดาวพฤหัสบดีดวงนี้มีขนาดโตกว่าขนาดของดาวอังคารอีกดวงหนึ่งนั้นมาก ๆ
ดังนั้น ดาวพฤหัสบดีดวงนี้ย่อมมีการดึงดูดกับดาวเคราะห์น้อยทั้งหลายมากกว่าผลที่เกิดจากดาวอังคารดวงนั้นอย่างเทียบกันไม่ได้
สิ่งนี้เองที่ธรรมชาติบรรจงสร้างไว้เพื่อควบคุมสภาพวงโคจรวงหนึ่งของบรรดาดาวเคราะห์น้อยดวงหนึ่ง ๆ เหล่านั้น
อย่างไรก็ตาม ก็ยังเป็นไปได้ที่ดาวเคราะห์น้อยบางดวงมีวิถีการเคลื่อนที่อันแหวกแนวแล้วมุ่งตรงมายังบริเวณที่อยู่ในอิทธิพลของโลก
ดังนั้น ณ ตอนนั้นการดึงดูดของโลกที่มีต่อดาวเคราะห์น้อยดวงดังกล่าวก็อาจจะก่อให้เกิดผลเสียต่อโลกของเราได้
ถ้าดาวเคราะห์น้อยดวงนี้มีขนาดโตจนตกกระทบสู่โลกและเกิดผลเสียหายอย่างรุนแรงมาก
ทั้งนี้ถ้าเราไม่หาวิธีป้องกันไว้
ความวิบัติย่อมมีต่อโลกอย่างไม่มีทางหลีกเลี่ยง
สิ่งสำคัญบางประการในขั้นนี้เป็นดังนี้
1. ศึกษาวิถีการเคลื่อนที่ของดาวเคราะห์ดวงใดดวงหนึ่ง
2. ศึกษาขนาดของดาวเคราะห์ดวงที่อาจจะก่อให้เกิดความเสี่ยง
3. ศึกษาเพื่อหาวิธีป้องกันด้วยกรรมวิธีที่เหมาะสมภายใต้ความรู้ ความสามารถ และเทคโนโลยีที่พึงมี
4. ระดมความคิดของมนุษย์โลกร่วมกัน
ทั้งนี้เราต้องไม่ยอมให้ความวิบัติดังกล่าวเกิดขึ้นแก่โลกของเราใบนี้
อย่างไรก็ตาม เรากำลังจะเผชิญสิ่งที่เป็นจริงในธรรมชาติ
หาใช่เป็นการบังเอิญแต่ประการใดไม่

สมพงษ์ ใจดี
sompongsej@yahoo.com
https://genphysics.wordpress.com/
http://www.vcharkarn.com/sompongse
15 มีนาคม 2554

ไฟฟ้าสถิต

ไฟฟ้าสถิต
ไฟฟ้าสถิต (Electrostatics) เป็นวิชาฟิสิกส์แขนงหนึ่งซึ่งศึกษาเกี่ยวกับประจุไฟฟ้า (Electric charge) และพฤติกรรมซึ่งเกี่ยวข้อง ณ ขณะที่ประจุไฟฟ้าดังกล่าวอยู่นิ่ง
ประจุไฟฟ้าตัวหนึ่งเราถือได้ว่า เป็นแหล่งต้นทางแหล่งหนึ่ง (A source) ของอำนาจทางไฟฟ้าซึ่งเปรียบเทียบได้กับมวลก้อนหนึ่ง (A mass) ซึ่งเป็นแหล่งต้นทางแหล่งหนึ่งของอำนาจโน้มถ่วง
ทั้งนี้ประจุไฟฟ้ามี 2 ชนิดดังนี้
1. ประจุไฟฟ้าบวก (Positive charge) ชนิดหนึ่ง
2. ประจุไฟฟ้าลบ (Negative charge) อีกชนิดหนึ่ง
อนึ่ง โดยทั่วไปการพิจารณาอำนาจทางไฟฟ้าในระดับนี้เรานิยมเลียนแบบการพิจารณาอำนาจโน้มถ่วงซึ่งเป็นผลจากมวลจุด (Point mass) ก้อนหนึ่งดังนี้
กล่าวคือ มวลก้อนหนึ่งมีสมบัติประหนึ่งจุดของมวลจุดหนึ่ง
เราจึงใช้ประจุจุดไฟฟ้าตัวหนึ่ง (An electric point charge) เป็นหลักของการพิจารณาโดยทั่วไป
ดังนั้น พึงตระหนักดังนี้
กล่าวคือ ผลที่ได้เป็นค่าโดยประมาณเสมอ
อนึ่ง ปริมาณหลักเบื้องต้นของสาระไฟฟ้าสถิตนอกจากประจุจุดไฟฟ้าตัวหนึ่งดังกล่าวมีปริมาณอีก 2 ชนิดดังนี้ คือ สนามไฟฟ้า (Electric field) ชนิดหนึ่งและแรงไฟฟ้า (Electric force) อีกชนิดหนึ่ง

ทั้งนี้ประจุไฟฟ้ามี 2 ชนิดดังนี้
กล่าวคือ บวกชนิดหนึ่งและลบอีกชนิดหนึ่งดังกล่าวแล้ว
อนึ่ง หลักการสำคัญหลักหนึ่งที่ยอมรับโดยทั่วกันเป็นดังนี้
“ประจุไฟฟ้าต่างชนิดกันดูดกันและประจุไฟฟ้าชนิดเดียวกันผลักกัน”

การศึกษาพื้นฐานในระดับนี้นิยมกล่าวถึงอนุภาค 3 ตัวดังนี้
1. โปรตอน (Proton) “p” ตัวหนึ่งที่มีประจุไฟฟ้าบวก
ทั้งนี้โปรตอนตัวหนึ่งอยู่ในวงศ์แบริออน (Baryon family) วงศ์หนึ่ง
2. นิวตรอน (Neutron) “n” ตัวหนึ่งที่ไม่มีประจุไฟฟ้า
ทั้งนี้นิวตรอนตัวหนึ่งอยู่ในวงศ์แบริออนวงศ์หนึ่งเช่นกัน
3. อิเล็กตรอน (Electron) “e” ตัวหนึ่งที่มีประจุไฟฟ้าลบ
ทั้งนี้อิเล็กตรอนตัวหนึ่งอยู่ในวงศ์เลปตอน (Lepton) วงศ์หนึ่ง
ข้อควรสังเกต
1. โปรตอน 1 ตัวและอิเล็กตรอน 1 ตัวมีค่าประจุไฟฟ้าใกล้เคียงกัน
2. โปรตอน 1 ตัวและนิวตรอน 1 ตัวมีมวลใกล้เคียงกัน
3. โปรตอน 1 ตัวมีมวลประมาณ 1,835 เท่าของอิเล็กตรอน 1 ตัว
4. นิวตรอนตัวหนึ่ง ๆ ไม่มีค่าประจุไฟฟ้า

ทั้งนี้ในเบื้องต้นผู้เขียนต้องการกล่าวนำถึงเนื้อหาสาระไว้แต่เพียงเท่านี้
อย่างไรก็ตาม ถ้าผลตอบรับจากผู้อ่านเป็นที่ประจักษ์ว่าเป็นสาระที่มีประโยชน์สาระหนึ่งผู้เขียนก็จะนำเสนอสาระอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องในโอกาสต่อไป

สมพงษ์ ใจดี
sompongsej@yahoo.com
https://genphysics.wordpress.com/
http://www.vcharkarn.com/sompongse
8 มีนาคม 2554